วิธีการดูแลสุขภาพ หลังหายจากโควิด

วิธีการดูแลสุขภาพ หลังหายจากโควิด

ภายหลังจากรักษาตัวจากอาการ โควิด-19 จนหายดีแล้ว นอกจากปอดแล้วยังมีอวัยวะที่มีโอกาสได้รับผลกระทบจากเชื้อโรคชนิดนี้โดยตรง อวัยวะบางชนิดอาจถูกทำลายไปบางส่วน ส่งผลให้ระบบการทำงานของร่างกายส่วนอื่น ๆ อย่างหัวใจและหลอดเลือด และสมรรถภาพทางร่างกายโดยรวมได้รับผลกระทบตามไปด้วย เพราะภาวะการติดเชื้อโควิด-19 มักส่งผลให้ร่างกายเกิดภาวะอักเสบของอวัยวะหลายระบบ (Multisystem Inflammatory Syndrome: MIS) ดังนั้นแม้ว่าผู้ป่วยจะรักษาตัวจนหายดีแล้ว ก็ยังมีโอกาสที่จะหลงเหลืออาการแสดงบางอย่างได้ เกิดเป็นอาการที่เรียกว่าภาวะลองโควิด

ภาวะลองโควิด’ (Long Covid) หรือที่เรียกว่า Post-Covid Syndrome คืออาการที่มีลักษณะคล้ายกับตอนที่ติดเชื้อโควิด-19 อยู่ หรืออาจเป็นอาการใหม่แบบที่ผู้ติดเชื้อไม่เคยเป็นมาก่อนได้เช่นกัน ยิ่งในกรณีของผู้ติดเชื้อที่มีอาการหนักจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลเป็นเวลานาน ๆ ก็ยิ่งมีโอกาสได้รับผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวมากยิ่งขึ้น แต่แม้ว่าจะเป็นผู้ติดเชื้อที่มีอาการน้อย หรือแทบไม่มีอาการเลย ก็สามารถมีอาการลองโควิดได้เช่น โดยอาการที่เกิดขึ้นอาจยาวนานได้มากถึง 3 เดือนขึ้นไปอีกด้วย

ตัวอย่างอาการที่เรียกว่าลองโควิด

  1. อาการอ่อนเพลียแบบเรื้อรัง เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ
  2. ใจสั่น หายใจได้ไม่เต็มอิ่ม รู้สึกแน่น ๆ ที่หน้าอก
  3. มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ สมองไม่สดชื่น ความทรงจำไม่ดีเหมือนก่อนติดเชื้อ
  4. ปวดตามข้อต่าง ๆ อาจรู้สึกเจ็บจี๊ด ๆ ตามเนื้อตัว หรือตามปลายมือปลายเท้า
  5. รู้สึกเหมือนมีไข้เกือบตลอดเวลา
  6. เกิดภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล หรือเกิดผลกระทบต่อจิตใจหลังเผชิญกับสถานการณ์ป่วยที่รุนแรง (Post-Traumatic Stress Disorder)

สาเหตุการเกิดภาวะ Long Covid ในปัจจุบันยังไม่สามารถสรุปสาเหตุที่มาของอาการ Long Covid ได้ชัดเจน แต่มีการข้อสันนิษฐานต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  1. เชื้อโควิด-19 อาจทิ้งร่องรอยความเสียหายเอาไว้ตามอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เมื่ออวัยวะเกิดความเสียหายก็จะไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ หากเกิดความเสียหายบริเวณสมอง อาจเกิดภาวะสมองล้า (Brain Fog Syndrome) หรือหากเกิดความเสียหายที่ปอด จะเกิดความผิดปกติขณะที่กำลังหายใจ เช่น หายใจถี่ ๆ เหนื่อยหอบได้ง่าย เป็นต้น
  2. ระบบการทำงานของภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ อาจเกิดขึ้นในกรณีที่ผู้ป่วยเคยมีภูมิคุ้มกันร่างที่แข็งแรง แต่เมื่อหายจากโควิด-19 แล้ว ภูมิคุ้มกันของร่างกายอาจหันมาทำลายเซลล์ในร่างกายของตนเองแทนได้
  3. หลงเหลือชิ้นส่วนของไวรัสโควิด-19 เอาไว้ในร่างกาย ซึ่งชิ้นส่วนเหล่านี้อาจยังทำงานอยู่หรือไม่ก็ได้ ซึ่งจะไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย จนเกิดอาการป่วยได้

แนวทางการฟื้นฟูร่างกายเมื่อเกิดภาวะ Long Covid เมื่อทราบเกิดอาการ Long Covid แนะนำให้ขอคำปรึกษาจากแพทย์ และผู้ป่วยควรดูแลร่างกายเพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบจากการอักเสบที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 ด้วย ดังนี้

  1. กินอาหารที่ช่วยฟื้นฟูร่างกาย โดยเฉพาะอาหารประเภทโปรตีนมีส่วนในการซ่อม สร้าง และเสริมเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย จึงควรกินอาหารที่มีโปรตีนเป็นส่วนประกอบ อย่างเนื้อสัตว์ ปลา ไข่ และถั่วชนิดต่าง ๆ
  2. เลือกกินอาหารประเภทแป้งไม่ขัดสี อย่างข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต เพื่อลดอัตราการดูดซึมน้ำตาลที่เร็วเกินไป เพราะน้ำตาลจะกระตุ้นการอักเสบได้
  3. เน้นการกินผักและผลไม้ เพื่อให้ร่างกายได้สารอาหารที่ครบถ้วน
  4. ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม การออกกำลังกายจะช่วยฟื้นฟูร่างกายให้กลับมามีสมรรถภาพตามเดิมได้ แต่ต้องไม่หักโหมเกินไป ควรเริ่มจากท่าออกกำลังกายเบา ๆ เน้นการเคลื่อนไหวแบบช้า ๆ แต่นานให้มากที่สุด การเร่งรีบออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวร่างกายอย่างรวดเร็ว จะส่งผลให้ปอด หรืออวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายทำงานหนักเกินไปได้