อาหารฟังก์ชั่น

อาหารฟังก์ชั่น ทางเลือกของคนรักสุขภาพ

อาหารฟังก์ชั่น ทางเลือกของคนรักสุขภาพ

กระแสรักษ์สุขภาพยังมาแรงไม่หยุด ผู้คนยังคงให้ความสำคัญกับสินค้าและบริการที่จะช่วยเสริมสร้างสุขภาพที่ดี ไม่ว่าจะเป็น อุปกรณ์กีฬา, เครื่องดื่ม, ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม รวมไปถึงอาหารฟังก์ชั่น (Functional food)

อาหารฟังก์ชั่นคืออะไร

เป็นกลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพที่เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่น โดยรัฐบาลญี่ปุ่นได้กำหนดให้อาหารกลุ่มนี้ มีวัตถุประสงค์เฉพาะสำหรับสุขภาพ เพราะมีองค์ประกอบเพิ่มเติมจากสารอาหารทั่วไป (Nutrients) เช่น โปรตีน, ไขมัน, คาร์โบไฮเดรต ฯลฯ ที่มีอยู่ในอาหารปกติอยู่แล้ว

องค์ประกอบเพิ่มเติมที่ว่านี้คือ สารประกอบทางเคมีที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติและมีผลต่อสุขภาพของคนเรา เช่น สารต้านอนุมูลอิสระ, โอเมก้า 3 เป็นต้น เมื่อมีสารเหล่านี้เพิ่มในอาหาร จึงทำให้อาหารฟังก์ชั่นกลายเป็นทางเลือกใหม่สำหรับคนรักสุขภาพในยุคปัจจุบัน เพราะให้ประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้นกว่าอาหารทั่วไป เช่น การบริโภคไข่ไก่ปกติ จะได้โปรตีน, ไขมัน, เหล็ก, ฟอสฟอรัส, วิตามินบี 12 และวิตามินเอ อยู่แล้ว แต่หากเติมสารอาหารเพิ่มเติมลงไป เช่น โอเมก้า 3 เป็น “ไข่ไก่เสริมโอเมก้า 3” จะทำให้ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นทั้งในแง่การเพิ่มไขมันดี, พัฒนาสมองและระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งสารเหล่านี้ไม่มีในไข่ไก่ธรรมดา

โดยทั่วไปสารที่จะเติมลงไปในอาหารฟังก์ชั่นนั้นจะเป็นกลุ่มสารที่มีส่วนช่วยป้องกันโรค, เสริมความแข็งแรงของร่างกาย และบางครั้งยังเป็นกลุ่มที่มีส่วนช่วยรักษาโรคได้ด้วย เช่นสารกระเทียม ซึ่งมีสรรพคุณลดระดับคอเรสเตอรอล และเพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกาย เป็นต้น

เหตุผลที่ผู้คนนิยมบริโภคอาหารฟังก์ชั่นมากขึ้น

นอกจากความใส่ใจในสุขภาพแล้ว ผู้บริโภคปัจจุบันยังมีชีวิตประจำวันที่ รีบเร่ง มีเวลาพักผ่อนน้อย เผชิญกับมลภาวะรอบตัว ทั้งยังมีความเครียดและกดดันสูง ซึ่งทำให้ผู้คนเจ็บป่วยง่าย การใช้อาหารเข้ามาช่วยดูแลสุขภาพจึงเป็นทางเลือกที่ทำได้ง่าย นอกจากนั้น ยังมีเหตุผลที่ผู้คนตอบรับอาหารฟังก์ชั่นมากขึ้นต่อเนื่อง อาทิ

มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจ

ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง

สามารถช่วยควบคุมหรือลดน้ำหนักได้ดี

ช่วยเพิ่มความจำ และลดความเสี่ยงโรคสมองเสื่อม

ช่วยลดความเสี่ยงโรคกระดูกพรุนอาหารฟังก์ชั่นคืออะไร

ปัจจุบันอาหารหลายประเภทได้ถูกเพิ่มเติมสารที่เสริมความแข็งแรงของร่างกายเข้าไป เช่น โปรตีน, วิตามิน, คอลลาเจน และโอเมก้า เป็นต้น และอีกไม่น้อยที่เพิ่มสมุนไพรบางชนิดเข้าไป เช่น เห็ดไมตาเกะ, เห็ดหลินจือ, โสม หรือ งา เพื่อเสริมความแข็งแรงของร่างกาย ซึ่งก็ทำให้กลายเป็นอาหารฟังก์ชั่นได้เช่นกัน

แม้ว่าอาหารฟังก์ชั่น จะมีราคาสูงกว่าอาหารชนิดเดียวกัน แต่ก็ยังได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เพราะคนยุคใหม่เริ่มหันมาเลือกอาหารเป็นตัวช่วยในการดูแลรักษาสุขภาพแทนการใช้ยานั่นเอง