น้ำไขสันหลังคั่งในโพรงสมอง

ระวัง 3 โรคร้ายแรงกระทบสุขภาพเด็ก ที่พ่อแม่มักคาดไม่ถึง

ระวัง 3 โรคร้ายแรงกระทบสุขภาพเด็ก ที่พ่อแม่มักคาดไม่ถึง

เด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 5 ปี ถือเป็นวัยที่มักเกิดการเจ็บป่วยมีปัญหาสุขภาพได้ง่าย เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันในตัวเด็กยังอ่อนแอ ไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆ ที่อยู่รายรอบตัวเด็กได้ โดยเฉพาะเมื่อถึงวัยที่ต้องไปโรงเรียนหรือทำกิจกรรมนอกบ้านต่าง ๆ ยิ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงที่เด็กจะได้รับเชื้อโรคต่าง ๆ เข้าสู่ร่ายกายจนเกิดความเจ็บป่วยตามมา แม้ว่าในปัจจุบัน วิทยาการด้านการแพทย์จะก้าวหน้าไปไกล แต่ก็มีโรคติดต่อใหม่ ๆ ที่เพิ่มขึ้นหลายโรค รวมถึงโรคเก่า ๆ ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น วันนี้เราจึงจะมาแนะนำ 3 โรคร้ายแรงในเด็กที่พ่อแม่มักคาดไม่ถึงแต่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและอาจถึงชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง

1.โรคคาวาซากิ
โรคคาวาซากิ (Kawasaki Disease) เป็นโรคที่ทำให้เกิดอาการอักเสบของผิวหนัง หลอดเลือด และต่อมน้ำเหลือง พบมากในเด็กแรกเกิดและเด็กเล็กแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และที่สำคัญคือ การแพทย์ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของโรคชนิดนี้ มีเพียงแค่การสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้นกันของเด็ก ซึ่งตอบสนองต่อเชื้อโรคบางชนิด โดยอาการของโรคชนิดนี้จะเริ่มตั้งแต่มีไข้สูง ปากแดง ตาแดง มือบวมเท้าบวม มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย ฯลฯ หากไม่ได้รับการรักษาทันเวลาอาจเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ โดยเฉพาะอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น พ่อแม่ควรหมั่นสังเกตสุขภาพและอาการของลูก ๆ อยู่เสมอ เพราะหลายกรณีกว่าที่พ่อแม่จะรู้ว่าลูกมีอาการผิดปกติ เด็กก็เข้าขั้นโคม่าแล้ว

2.ไข้รูมาติก
ไข้รูมาติก (Acute Rheumatic Fever) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สเตรปโตคอคคัส กรุ๊ปเอ ซึ่งพบมากในเด็กอายุ 5-15 ปี อาการของโรคเริ่มตั้งแต่อาการเจ็บคอ ปวดตามข้อ หอบเหนื่อย ฯลฯ ก่อนจะเกิดความผิดปกติที่เห็นได้ชัด ได้แก่ ผื่นตามผิวหนัง ข้อบวม กล้ามเนื้อกระตุก ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เชื้อแบคทีเรียก็จะตรงเข้าไปทำลายเนื้อเยื้อหัวใจ ทำให้เกิดอาการผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจตามมา เช่น หัวใจวาย ลิ้นหัวใจรั่ว เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ฯลฯ ดังนั้น พ่อแม่ทุกควรระวังเรื่องความสะอาดของเด็กอย่างสม่ำเสมอ เพราะ แบคทีเรีย สเตรปโตคอคคัส มักพบบ่อยในสถานที่แออัดที่มีผู้อยู่อาศัยหนาแน่น เช่น ชุมชนแออัด และโรงเรียน เป็นต้น

3.น้ำไขสันหลังคั่งในโพรงสมอง
ปกติแล้ว น้ำไขสันหลัง จะคอยทำหน้าที่เหมือนน้ำหล่อเลี้ยงสมองและรักษาอุณภูมิของสมองให้อยู่ในระดับเหมาะสม อย่างไรก็ดี การมีน้ำไขสันหลังในปริมาณมากเกินไปจะทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมหรือระบายน้ำออกไปได้ทัน ทำให้น้ำไขสันหลังท่วมเยื่อหุ้มสมองและผิวสมอง ซึ่งความผิดปกตินี้เรียกว่า “น้ำไขสันหลังคั่งในโพรงสมอง” พบบ่อยในเด็กแรกเกิดหรือเด็กเล็กที่กะโหลกศีรษะบริเวณกระหม่อมยังไม่ปิดสนิทดี ซึ่งบ่อยครั้งทำให้เด็กมีอาการหัวโตผิดรูป ตามด้วยอาการคล้ายโรคพาร์กินสัน แขนขาเกร็ง หรือเกิดอาการชัก ความจำเสื่อม ปวดหัวรุนแรง จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ พ่อแม่จึงควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของลูกอย่างสม่ำเสมอ เพราะบางครั้งโรคนี้ก็ไม่แสดงอาการผิดปกติภายนอก และเด็กเล็กก็ยังไม่สามารถอธิบายความผิดปกติของร่างกายตัวเองให้รู้ได้นั่นเอง

ดังนี้แล้ว ผู้ที่เป็นพ่อแม่ต้องหมั่นสังเกตและซักถามลูกอยู่เสมอ หากสงสัยว่ามีอาการที่ไม่น่าไว้วางใจ ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว